หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2555

โรคลิวคีเมียของแมว

โรคลิวคีเมียของแมว

โรคลิวคีเมียของแมว
โรคลิวคีเมียของแมว


ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ในประเทศไทยมีข้อมูลเกี่ยวกับ โรคลิวคีเมียในแมว พอสมควร ข้อมูลบางอย่างก็มีการเปลี่ยนแปลงไปจากตำราเมื่อสมัยก่อน ถือเป็นอีกโรคหนึ่งที่พบได้บ่อยในประเทศไทย

โรคลิวคีเมีย เกิดจากเชื้อไวรัส พบได้ทั่วโลก แต่หลายคนอาจนึกถึงโรคลิวคีเมียในซีรีส์เกาหลีกัน โรคลิวคีเมียเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน

โรคลิวคีเมียในแมว ติดต่อได้อย่างไร 

การติดต่อนั้นสามารถเกิดขึ้นได้จากแมวสู่แมว ไม่ว่าจะเป็นทางบาดแผล (จากการกัดกัน), การอยู่ร่วมกันแบบใกล้ชิด (ยกตัวอย่างเช่นการตัดขน, การใช้ภาชนะรองอาหารร่วมกัน หรือการใช้ทรายอนามัยร่วมกัน) หรือจากแม่มาสู่ลูก (ทั้งทางรกและน้ำนม) จำง่าย ๆ ว่า เชื้อไวรัสลิวคีเมียอยู่ใน น้ำลาย, ปัสสาวะ และอุจจาระของแมวป่วย

แมวที่ป่วยเป็นโรคลิวคีเมีย มีอาการอย่างไร

ในระยะแรก แมวอาจมีอาการเพียงแค่มีไข้ เซื่องซึม ท้องเสีย หรืออาจพบต่อมน้ำเหลืองขยายตัวขึ้นเล็กน้อยเท่านั้น หลังจากนั้นอาจมีอาการอื่น ๆ ได้โดยขึ้นอยู่กับระดับภูมิคุ้มกันในระบบต่าง ๆ อาทิเช่น น้ำหนักตัวลด ช่องปากอักเสบ ภาวะเลือดจาง อาการทางระบบประสาท เนื้องอกที่อวัยวะต่าง ๆ เป็นต้น

แมวที่เสี่ยงต่อ โรคลิวคีเมีย 

แมวตัวผู้ ที่ยังไม่ได้ทำหมัน มีความเสี่ยงในการได้รับเชื้อไวรัสลิวคีเมียค่อนข้างสูง เนื่องจากธรรมชาติของแมวตัวผู้ ที่ชอบออกไปนอกบ้าน ไปต่อสู้กับแมวตัวผู้อื่นๆ เพื่อแย่งแมวตัวเมียกัน หากเป็นแมวเร่ร่อนยิ่งจะมีความเสี่ยงในการได้รับเชื้อไวรัสลิวคีเมียสูงกว่าแมวที่เลี้ยงไว้ตามบ้าน

อย่างไรก็ตาม สำหรับแมวที่เลี้ยงในบ้านอย่างหนาแน่น ก็มีอัตราเสี่ยงสูงไม่แพ้กัน หากมีแมวที่สามารถออกนอกบ้านไปได้ อาจนำเชื้อไวรัสลิวคีเมียกลับมา พอในบ้านมีประชากรหนาแน่น ก็มีอาจมีเรื่องความขัดแย้ง การแย่งกันเป็นใหญ่ รวมถึงความเครียดที่สูงขึ้น อันจะส่งผลให้มีการแพร่ระบาดได้

โรคลิวคีเมียของแมว
โรคลิวคีเมียของแมว


ระยะฟักตัวของ โรคลิวคีเมีย 

ระยะฟักตัวของโรค หมายถึง ระยะเวลาตั้งแต่แมวได้รับเชื้อไวรัสลิวคีเมียเข้าไปในร่างกาย จนแสดงอาการเจ็บป่วย สำหรับ โรคลิวคีเมีย อาจมีระยะฟักตัวได้ตั้งแต่เดือนจนถึงปี ขึ้นอยู่กับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย แม้ว่าตัวเชื้อไวรัสลิวคีเมียจะส่งผลกระทบต่อระบบเลือด ระบบน้ำเหลือง และระบบภูมิคุ้มกัน แต่ว่าระบบอื่น ๆ ภายในร่างกายนั้นจะไวต่อการติดเชื้อแทรกซ้อนอื่น ๆ อันเป็นผลมาจากภาวะกดภูมิคุ้มกัน

การตรวจวินิจฉัย โรคลิวคีเมียในแมว

การตรวจวินิจฉัยนั้นมีอยู่หลายวิธี การตรวจวินิจฉัยในช่วงเวลาที่เหมาะสมจะเพิ่มความแม่นยำ แต่อย่างไรก็ดี “ผลบวกลวง” ก็อาจเกิดขึ้นในอัตราที่ค่อนข้างสูง หากตรวจวินิจฉัยครั้งแรก พบผลบวก ก็มีโอกาสที่ตรวจอีกครั้งจะได้ผลลบ โดยทั่วไปแนะนำให้ตรวจวินิจฉัยซ้ำห่างกัน 8-12 สัปดาห์

หากตรวจวินิจฉัยพบว่าแมวที่เลี้ยงไว้เป็นโรคลิวคีเมีย ควรปฏิบัติอย่างไร 

แมวที่วินิจฉัยว่าป่วยเป็นโรคลิวคีเมีย อาจสามารถมีชีวิตยืนยาวได้นับปี มีข้อมูลการศึกษาว่า 83% ของประชากรแมวที่ทำการศึกษา มีอายุยืนยาวได้ไม่เกิน 4 ปี ภายหลังจากที่ตรวจวินิจฉัยว่ามีเชื้อไวรัสลิวคีเมีย โดยมีสองปัจจัยที่ควรเข้าใจ นั่นคือควรจะหลีกเลี่ยงความเครียดและการสัมผัสต่อเชื้อโรคอื่น ๆ ดังนั้น จึงไม่ควรให้อยู่รวมกับแมวป่วย หรืออยู่กันอย่างหนาแน่น อย่างไรก็ดี มีข้อมูลว่าหากเลี้ยงแมวที่ป่วยเป็นโรคลิวคีเมียไว้ร่วมกัน จะมีความเครียดน้อยกว่า กักขังให้อยู่เพียงลำพัง

หากพบอาการป่วยเนื่องจากการติดเชื้อแทรกซ้อน ก็ให้รีบทำการรักษา อาจให้ยาปฏิชีวนะ ให้สารน้ำ หรืออาหารที่มีคุณค่าสูง หากพบก้อนเนื้องอก อาจให้การรักษาคีโมร่วมกับให้ยาในกลุ่มสเตรียรอยด์ ตามคำแนะนำของสัตวแพทย์

ยาสำหรับคนที่นำมาใช้กรณีติดเชื้อ HIV มีรายงานว่าประสบความสำเร็จในการใช้ในแมวบ้าง แต่ก็มีผลข้างเคียงพอสมควร รวมถึงยาที่มีสรรพคุณช่วยกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานขึ้นมา (ในคน) ก็มีการนำมาทดลองใช้กับแมวที่ป่วยเป็นโรคลิวคีเมีย

การป้องกัน โรคลิวคีเมียในแมว

เนื่องจากไม่มีวิธีรักษา การป้องกันจึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่า แม้ว่าไม่มีวัคซีนตัวใด ที่สามารถให้ผลสร้างภูมิคุ้มกันในระดับ 100% แต่ก็ยังดีกว่าไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคลิวคีเมียเลย โดยเฉลี่ยได้ผลประมาณ 75% – 85% นอกจากนี้ การแยกแมวที่ป่วยเป็นโรคลิวคีเมียออกจากฝูง และไม่ให้ออกไปสู่ภายนอก เป็นการควบคุมการระบาดของโรคลิวคีเมียได้เป็นอย่างดี

สำหรับการผ่าตัดทำหมันก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ที่จะลดพฤติกรรมการออกไปนอกบ้านของแมวตัวผู้ อันจะเพิ่มโอกาสความเสี่ยงในการสัมผัสเชื้อไวรัสลิวคีเมียได้อีกทางหนึ่งด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น